เรื่องย่อ : Tomb raider ลาร่า ครอฟท์ ทูมเรเดอร์
...ถ้าจะกล่าวว่า ปี 1998 เป็นปียอดเยี่ยมของวงการหนัง คงต้องบอกว่าไม่ใช่ ทำไมน่ะหรือ? ไม่ใช่เพราะว่า เทอร์เรนซ์ มาลิค กลับมาทำหนังอีกครั้งหรอก แต่เป็นเพราะเป็นปีแรก ที่หนังที่ทำรายได้สูงสุดของปี คือ A Bug’s Life ทำรายได้น้อยกว่าวีดีโอเกมที่ขายดีที่สุด คือเกม Goldeneye (ตลกดี ที่เกมก็สร้างมาจากหนังนั่นแหละ) เห็นได้อย่างชัดเจนว่า ในที่สุดหนังป๊อบในสมัยนี้ กับวีดีโอเกมที่มีความซับซ้อนมากยิ่งขึ้น ได้เดินทางมาพบกัน ตรงจุดที่สามารถสลับสับเปลี่ยนกันได้
ความจริงที่สนับสนุนเรื่องที่ว่า คือ วีดีโอเกมที่มาจากหนัง ส่วนใหญ่ประสบความสำเร็จ (เช่น Aliens, Jurassic Park) แต่หนังที่สร้างจากวีดีโอเกมมักไปไม่รอด (เช่น Street Fighter, Super Mario Brothers) ซึ่งถ้าให้คนที่หลงใหลเสน่ห์ของหนังพูดถึงเหตุการณ์นี้ ก็คงจะได้ความออกมาว่า หนังมีเสน่ห์ลึกซึ้งเกินบรรยาย ซึ่งสามารถนำมาเป็นฉากให้กับวีดีโอเกมได้อย่างดีเยี่ยม แต่ฉากของวีดีโอเกมไม่สามารถนำมาทำเป็นฉากให้หนังได้ดี สำหรับคนรักหนังแบบที่ว่า การเปิดตัวด้วยรายได้ 60 ล้านดอลล่าร์ในสัปดาห์แรกของหนัง Lara Croft: Tomb Raider คงจะเป็นจุดหักเหที่ไม่ค่อยถูกใจสักเท่าไร คือเป็นหนังที่หนังที่ขาดรสนิยมทางศิลปะ และขาดความลุ่มลึกของความเคลื่อนไหวพอ ๆ กับเกมที่เป็นต้นกำเนิดของหนัง แม้ว่าในความเป็นจริง หนังจะประสบความสำเร็จในระดับเดียวกับเกมเลยทีเดียว
Lara Croft: Tomb Raider ผลงานการกำกับของ ไซมอน เวสท์ (จาก Con Air) เป็นหนังที่สร้างจากวีดีโอเกมเรื่องแรก ที่ผสานตัวละครในเกมเข้ากับนักแสดงนำอย่างสมบูรณ์แบบ ซึ่งในเรื่องนี้คือ สาวหน้าอกดินระเบิด แอนเจลิน่า โจลี่ ที่ถูกลบชื่อออกจากโปสเตอร์โฆษณาหนังเพราะฝ่ายการตลาดกลัวว่า ชื่อของเธอจะไปแข่งกับชื่อ ลาร่า ครอฟท์
โจลี่ (ซึ่งเคยบอกว่าเธอรับบทนี้เพราะผลจากการสำรวจออกมาว่า แฟน ๆ วีดีโอเกมเลือกเธอ) ถ่ายทอดความเป็น เลดี้ครอฟท์ นักผจญภัยชาวอังกฤษผู้สูงศักดิ์ ทุกกระเบียดนิ้ว ทั้งการเท้าสะเอว ทั้งกิริยาท่าทางต่าง ๆ และที่โดดเด่นที่สุด แน่นอน ต้องเป็นหน้าอกที่เต่งตึงและโตล้ำมาตรฐานของสาว ๆ โดยทั่วไปนั่นเอง ยิ่งถูกเน้นด้วยเครื่องเสื้อรัดรูป ทำให้ยิ่งดูเด่น จนดูราวกับว่า ส่วนอื่น ๆ ของหนังเป็นเพียงส่วนประกอบ ที่ออกแบบมาให้เข้ากับสิ่งนี้เท่านั้น เนื้อหาของหนังวนเวียนอยู่ที่ การโครจรของดาวเคราะห์ดวงหนึ่ง ซึ่งมีความเกี่ยวข้องกับ นิกายอิลลูมิเนติและหินรูปสามเหลี่ยม ซึ่งเมื่อนำประกอบเข้าด้วยกันแล้ว จะก่อให้เกิดพลังมหาศาล การสืบเสาะแสวงหาครั้งนี้ นำโดย แมนเฟร็ด โพเวลล์ (เอียน เกร็น) โดย ครอฟท์ มาสมทบหลังจากที่เธอพบกุญแจ จากนาฬิกาไขลานเรือนหนึ่ง ซึ่งพ่อของเธอที่ลาโลกไปแล้ว (จอน วอยท์) เก็บไว้ในแมนชั่นที่ใหญ่โตมโหฬาร และมีห้องถึง 82 เมื่อหลายปีก่อน
องค์ประกอบต่าง ๆ ผสมผสานกันอย่างลงตัว มีการยกบทกวีของ วิลเลี่ยม เบลค มาประกอบ มีการแสวงหาสิ่งของสำคัญ ที่ทำให้ต้องเดินทางไปทั่วโลก มีฉากอันอลังการ ทั้งป่าในกัมพูชา, ที่ราบในไซบีเรีย ตลอดจนบ้านสไตล์โรมันของนางเอก ซึ่งทั้งหมดนี้ ช่วยเอื้ออำนวยให้หนังได้โชว์หน้าอกทรงเสน่ห์ของโจลี่ และการตัดต่อที่ไม่ค่อยจะได้ความของ ดัลลาส เอส ปิวเอทท์ และ เกล็น สแคนเทิลเบอรี่ ซึ่งฉากต่าง ๆ ไม่มีความต่อเนื่องกัน เป็นเหมือนเพียงการเลือกสุ่มเอาภาพจากมุมกล้องต่าง ๆ มาประกอบกัน ถ้าจะเปรียบเทียบไปแล้ว ฉากจำลองใน Tomb Raider ภาคที่เป็นเกม ที่ว่าดูไร้ศิลปะแล้ว ยังจะดูรื่นตามากกว่าภาคที่เป็นหนังเสียอีก
ว่าไปแล้ว การดูหนัง Tomb Raider ให้ความรู้สึกคล้าย ๆ กับกำลังดูใครสักคนเล่นวีดีโอเกมอยู่ มีการยิงกันอุตลุต แต่ไม่มีใครได้เลือดสักหยด ในตอนที่พวกอิลลูมิเนติมาพบกันในห้องโถงสไตล์บารอค และดาวเคราะห์โคจรมาอยู่ในตำแหน่งที่เป็นเส้นตรง จึงเกิดพลังที่ส่งผลให้กลไกลึกลับในวัดเริ่มทำงาน แบบเดียวกับที่เคยเห็นในหนังมาแล้วเป็นร้อยเรื่อง ขอบอกคนที่กำลังจะหลงเชื่อเหตุการณ์แบบนี้ว่า ในทางวิทยาศาสตร์แล้ว หากดาวเคราะห์ทั้ง 9 ดวงโคจรมาอยู่ในแนวเดียวกันจริง ๆ ในวันใด ก็จะไม่มีผลให้เกิดแรงดึงดูดมหาศาล หรือมากกว่าน้ำหนักของสับปะรดสักลูกแต่อย่างใด ซึ่งถ้าจะเปรียบเทียบให้ได้บรรยากาศของหนังแล้ว คงต้องบอกว่า ผลกระทบที่เกิดคงจะน้อยกว่าน้ำหนักของหน้าอกของโจลี่ ที่มีขนาดพอ ๆ กับผลสับปะรดสองลูก และปัจจุบันยังอยู่ในแนวเดียวกันอย่างได้ระดับอย่างสมบูรณ์แบบ ไม่ถูกแรงดึงดูดของโลกทำร้ายแต่อย่างใด
แน่นอนว่า แรงดึงดูดของหน้าอกของลาร่า เป็นสิ่งที่ทำให้เธอเป็นที่คลั่งไคล้ (ไม่ได้พูดเล่น ๆ) ในกลุ่มหนุ่มน้อยวัยสัก 11-17 ปีที่หมกมุ่นอยู่กับการทำร้ายตัวเองทางเพศ Tomb Raider ที่เป็นวีดีโอเกมเป็นจุดเริ่มให้เราส่งตาหวานและบู๊ไปพร้อม ๆ กัน ส่วน Tomb Raider ที่เป็นหนัง ได้จับความรู้สึกเดียวกันนั้น โดยให้โจลี่มาโลดแล่นบนจอหนัง พร้อมถอดแบบบุคลิกของลาร่าในวีดีโอเกมออกมาอย่างกับแกะ มีเพียงรอยยิ้มด้วยความเย้ยหยัน และการหกเขมนตีลังกาอย่างสง่างามของเธอเท่านั้น ที่ทำให้เราไม่รู้สึกขวยเขินแทนเธอ เพราะทำให้เธอดูเหมือนจะสนุกกับสิ่งที่เธอกำลังทำ และโจลี่ก็เคยบอกว่า เธอก็สนุกกับการสวมบทให้ตัวละครตัวนี้มาโลดแล่นดุจมีชีวิต ในแง่นี้ Tomb Raider ก็คงจะเป็นหนังที่ดูสนุก แต่เมื่อหนังจบลง คงจะรู้สึกได้ว่า สิ่งที่คุณคาดหวังจากการไปดูหนังสักเรื่อง ได้เปลี่ยนไปจากเดิมอีกหน่อยหนึ่ง