จำนวน 12 แผ่น
เสียง ไทย
บรรยาย -
เรื่องย่อ
ละคร "ปูยีจักรพรรดิโลกไม่ลืม (The Last Emperor)" นำเสนออัตชีวประวัติของ "สมเด็จพระจักรพรรดิผู่อี๋" จักรพรรดิองค์ที่ 10 แห่งราชวงศ์ชิง (เริ่มนับตั้งแต่จักรพรรดิซุ่นจื้อ) และองค์สุดท้ายของประเทศจีนที่ถูกบังคับให้สละราชสมบัติ อันนำมาซึ่งจุดจบของราชวงศ์ชิงที่ปกครองประเทศจีนมานานกว่า 260 ปี และสิ้นสุดระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชที่มีมายาวนานกว่า 2,000 ปีในจีน
สมเด็จพระจักรพรรดิผู่อี๋ มีพระนามเต็มว่า "อ้ายซินเจี๋ยหลอ ผู่อี๋" (เป็นที่รู้จักในนาม "ปูยี" ตามชื่อภาษาอังกฤษ "Puyi") มีเชื้อสายแมนจู เป็นโอรสองค์โตของ "องค์ชายชุนที่ 2" (ไจ้เฟิง - พระอนุชาต่างพระชนนีของจักรพรรดิกวังซวี่) และ "พระนางกัวเอ่อเจีย โยว่หลัน"... หลังจักรพรรดิกวังซวี่เสด็จสวรรคตอย่างกระทันหันได้เพียงหนึ่งวัน พระนางซูสีไทเฮาก็เลือกผู่อี๋ซึ่งมีอายุเพียง 2 ปี 10 เดือนให้เป็นจักรพรรดิองค์ต่อไป โดยให้พระราชบิดาเป็นผู้สำเร็จราชการแทน และใช้ชื่อรัชสมัยว่า "เซวียนถ่ง" หลังแต่งตั้งจักรพรรดิองค์ใหม่แล้วพระนางซูสีไทเฮาก็เสด็จสวรรคต ณ พระที่นั่งจงไห่อี๋หลวนเตี้ยน
ชีวิตของจักรพรรดิน้อยผู่อี๋ต้องประสบกับความผกผันตั้งแต่ยังไม่ทันรู้เดียงสา พระองค์ต้องประทับอยู่แต่ในพระราชวังต้องห้ามที่ล้อมรอบด้วยกำแพงสูง แม้จะพรั่งพร้อมด้วยวัตถุมีค่าแต่ก็ต้องพลัดพรากจากพระราชบิดา-มารดาผู้เป็นที่รัก มีเพียงพระพี่เลี้ยงเก่าแก่ "เหวิน เฉาหว่าง" เพียงคนเดียวที่เป็นที่พึ่งทางใจ จนกระทั่ง 6 ปีต่อมา พระองค์ทรงได้รับอนุญาตให้พบครอบครัวอีกครั้ง แต่ก็เป็นการพบที่ห่างเหินเย็นชาไม่ต่างจากคนแปลกหน้า จักรพรรดิองค์น้อยจึงเติบโตขึ้นมาอย่างว้าเหว่อ้างว้าง และไร้สิ้นอิสรภาพไม่ต่างจากนักโทษชั้นดีในคุกที่เรียกว่า "พระราชวัง" (ข้อมูลจาก - anyapedia)
ชีวิตของจักรพรรดิผู่อี๋ต้องพลิกผันอีกครั้งหลังเกิดการปฏิวัติโค่นล้มราชวงศ์ชิง (การปฏิวัติซินไห่) ปรากฏว่าราชวงศ์ชิงภายใต้การสำเร็จราชการแทนขององค์ชายชุนที่ 2 ปราชัยอย่างย่อยยับให้กับกองทัพของฝ่ายปฏิวัติภายใต้การนำของซุนยัตเซ็น ในตอนนั้นจักรพรรดิผู่อี๋ทรงมีพระชนมายุเพียง 6 พรรษา สมเด็จพระพันปีหลงยวี่จึงเป็นผู้ลงพระนามาภิไธยในพระบรมราชโองการสละราชสมบัติของจักรพรรดิผู่อี๋ เมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2455 อันเป็นจุดสิ้นสุดของระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชที่ดำเนินมายาวนานกว่า 2,000 ปีในจีน และเป็นจุดเริ่มต้นของการปกครองแบบสาธารณรัฐ
พระราชโองการนั้น จักรพรรดิผู่อี้ทรงมอบหมายให้นายพล "หยวนซือไข่" ผู้มีอิทธิพลทางทหารในช่วงปลายราชวงศ์ชิง (ซึ่งได้รับการสนับสนุนจาก ซุน ยัตเซ็น ผู้นำถงเหมิงฮุย (สหสันนิบาต)) มีอำนาจในการจัดตั้งรัฐบาลสาธารณรัฐ หลังราชสำนักจีนโอนอำนาจไปยังสาธารณรัฐที่เพิ่งก่อตั้งขึ้นใหม่ ผู่อี๋ก็เป็นจักรพรรดิเพียงแค่ในนาม ถึงกระนั้นพระองค์และสมาชิกราชวงศ์ยังได้รับอนุญาตให้พำนักอยู่ในส่วนเหนือของพระราชวังต้องห้าม (พระตำหนักส่วนพระองค์) และในพระราชวังฤดูร้อนอี๋เหอหยวน โดยได้รับเงินสนับสนุนราชวงศ์สูงถึง 4 ล้านเหรียญ อย่างไรก็ตาม พระองค์ทรงถูกจำกัดอิสรภาพเป็นอย่างมาก จะทำอะไรแต่ละอย่างต้องให้รัฐบาลยินยอมก่อน แม้กระทั่งงานศพของพระมารดาก็ยังไม่สามารถออกไปเคารพศพได้เพราะรัฐบาลไม่อนุญาต
ในปี พ.ศ. 2460 แม่ทัพจางซวิน ร่วมกับ คังโหย่วเหวยทำรัฐประหารที่ปักกิ่งสำเร็จ เขาได้ฟื้นฟูอำนาจของราชวงศ์ชิงโดยเชิญผู่อี๋ขึ้นเป็นจักรพรรดิที่มีอำนาจเต็มอีกครั้ง แต่หลังจากนั้น 12 วันจางซวินก็ถูกรัฐประหารคืน ผู่อี๋จึงถูกบังคับให้สละราชบัลลังก์เป็นครั้งที่สอง และถูกขับออกจากพระราชวังต้องห้ามในปี พ.ศ. 2467 หลังจากนั้นผู้อี้ก็ไปอาศัยอยู่ที่สถานทูตญี่ปุ่นเป็นการชั่วคราวประมาณ 1 ปีครึ่ง ก่อนย้ายไปอยู่ในเขตปกครองของญี่ปุ่นในเทียนจิน
พระองค์ได้รับการสนับสนุนจากญี่ปุ่นที่กำลังขยายอิทธิพลเข้ามาในจีนให้ขึ้นครองราชย์อีกครั้งในฐานะจักรพรรดิแห่งแมนจูกัว (รัฐหุ่นเชิดของจักรวรรดิญี่ปุ่น) โดยยอมสวมเครื่องแบบทหารแบบตะวันตกในการขึ้นครองบัลลังก์ ระหว่างที่ผู่อี๋เป็นจักรพรรดิแห่งแมนจูกัว ชีวิตครอบครัวของพระองค์ถูกจับตามองอย่างใกล้ชิดจากญี่ปุ่นเพื่อป้องกันไม่ให้พระองค์ประกาศตัวแยกเป็นเอกราช (ผู่อี๋ต้องการฟื้นฟูราชวงศ์ชิง)
หลังสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่สอง ผู่อี๋ถูกจับโดยกองทัพแดงของโซเวียตขณะพยายามหลบหนีไปญี่ปุ่น เมื่อพรรคคอมมิวนิสต์จีนภายใต้เหมาเจ๋อตุง เข้ามามีอำนาจในประเทศจีน ผู่อี๋จึงถูกส่งตัวกลับบ้านเกิดและต้องใช้ชีวิตถึง 10 ปีในศูนย์จัดการอาชญากรสงครามในมณฑลเหลียวหนิง หลังได้รับการอภัยโทษผู่อี๋ก็ใช้ชีวิตเยี่ยงสามัญชนในกรุงปักกิ่งกับน้องสาว เขาทำงานให้พรรคคอมมิวนิสต์โดยการเป็นคนสวนในสถาบันพฤษศาสตร์ ก่อนได้เป็นบรรณาธิการแผนกวรรณกรรมที่สภาที่ปรึกษาการเมืองแห่งชาติโดยมีรายได้ 100 หยวนต่อเดือน และนั่นก็เป็นที่ๆ เขาทำงานตราบจนวาระสุดท้ายก่อนเสียชีวิตอย่างสามัญชนด้วยโรคมะเร็งในไตและหัวใจล้มเหลว